เช็กอาการเข้าข่าย " วัยทอง" หรือยัง?

639 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เช็กอาการเข้าข่าย " วัยทอง" หรือยัง?

วัยทองคืออะไร?

วัยทอง (Menopause) คือ ภาวะที่สตรีเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน โดยรังไข่จะหยุดสร้างฮอร์โมนเพศหญิงที่มีชื่อว่า เอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน ส่งผลให้ไม่มีประจำเดือน ถ้าประจำเดือนขาดหายไปครบ 1 ปี แสดงว่ารังไข่ได้หยุดทำงานแล้ว และถือว่าได้เข้าสู่วัยทองอย่างสมบูรณ์ โดยอายุเฉลี่ยที่ผู้หญิงไทยเข้าสู่วัยทองประมาณ 48-52 ปี

สังเกตอาการ “วัยทอง”

1. อาการร้อนวูบวาบ (hot flush) โดยเฉพาะบริเวณลำตัวส่วนบน เช่น บริเวณหน้า คอ และอก มักเกิดอาการนานประมาณ 1-5 นาที ร่วมกับ อาการอื่น ได้แก่ เหงื่อออก หนาวสั่น วิตกกังวล หรือใจสั่นได้ อาการเหล่านี้อาจรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน และการนอนหลับยากขึ้นได้


2. ช่องคลอดแห้ง ติดเชื้อและคันในช่องคลอด เจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ได้


3. โรคกระดูกพรุน


4. โรคไขมันในเลือดสูงเพิ่ม โอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันมากขึ้น เนื่องจากจากการขาดเอสโตรเจน เพราะฮอร์โมนเอสโตรเจนทำหน้าที่สำคัญในการลดไขมันไม่ดี( LDL)


5. เพิ่มความเสี่ยงการเป็นโรคอัลไซเมอร์


6. ซึมเศร้า อารมณ์หงุดหงิด มีความวิตกกังวลง่าย


7. ผิวหนังเหี่ยวแห้ง และบาง ขาดความยืดหยุ่น เป็นแผล และกระได้ง่าย

วัยทองรักษาได้หรือไม่?

การรักษาโดยการให้ฮอร์โมนเพศหญิงทดแทน (hormone replacement therapy: HRT) ใช้เฉพาะผู้ที่มีอาการรุนแรงและไม่มีข้อห้ามใช้ฮอร์โมนเพศหญิงทดแทน
กลุ่มยาที่ไม่ใช่ฮอร์โมนเพศหญิง (non-hormonal treatment) ได้แก่ กลุ่มยารักษาโรคซึมเศร้า (antidepressant) เช่น ยากลุ่ม SSRIs และ SNRIs ยากลุ่ม selective estrogen receptor modulators (SERMS) ตัวอย่างยาได้แก่ tamoxifen, raloxifene เป็นต้น ยา tibolone และ androgen เป็นต้น


วิธีดูแลตนเองรับมือกับวัยทอง

1. อาหาร สตรีวัยทองควรกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ และเน้นการกินอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น นม โยเกิร์ต พืชตระกูลถั่ว เต้าหู้ งาดำ ปลาตัวเล็ก ผักใบเขียว เป็นต้น แคลเซียมที่รับเข้าไปจะเป็นตัวเสริมสร้างกระดูกเพื่อป้องกันภาวะกระดูกพรุน นอกจากนี้ ควรควบคุมระดับไขมันในเส้นเลือดโดยงดอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง และเลือกกินอาหารที่ย่อยง่าย

2. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เช่น การเดิน การวิ่งเหยาะๆ เต้นรำ รำมวยจีน เต้นแอโรบิก เป็นต้น

3. ฝึกการควบคุมอารมณ์ให้มีความคิดในทางบวก และทำจิตใจให้แจ่มใสเบิกบาน

4. ตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอปีละ 1 ครั้ง
ตรวจเช็คความดันโลหิต
ตรวจเลือดหาระดับไขมัน
ตรวจภายในเช็คมะเร็งปากมดลูก
ตรวจหามะเร็งเต้านม (Mammography)
ตรวจหาความหนาแน่นของกระดูก (Bone Mineral Density)
รวมทั้งการตรวจระดับของฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับวัยทอง


ผลเสียของฮอร์โมนทดแทนที่อาจเกิดขึ้น
อาการข้างเคียงหรืออาการไม่พึงประสงค์ เช่น เลือดออกทางช่องคลอด คัดตึงเต้านม น้ำหนักเพิ่ม เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ขาบวม เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดดำอุดตัน และอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งมดลูก มะเร็งเต้านม โดยเฉพาะผู้ที่ใช้ในปริมาณที่สูง และใช้ติดต่อกันนาน 10-15 ปี ซึ่งการใช้ฮอร์โมนทดแทนไม่ควรใช้ติดต่อนานเกิน 5 ปี

ผู้ที่ควรหลีกเลี่ยงการใช้ฮอร์โมน

ผู้ที่มีประวัติมะเร็งเต้านม และมะเร็งมดลูก
ผู้ที่เป็นโรคตับ
ผู้ที่เกิดลิ่มเลือดที่เท้า
ผู้ที่มีประจำเดือนผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้